มาตราฐาน WiFi 6 (802.11 ax)ใหม่ จับต้องได้ ใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด คำถามยอดฮิตจาก Pantip ในยุค IoT กับเราเตอร์ใหม่จาก 3BB
นายเรย์ ต้องสารภาพเลยว่า ตอนแรกที่ทราบว่า มีมาตราฐาน Wi-Fi 6 ใหม่ออกมา ก็คิดในใจว่า คงต้องหาอุปกรณ์ใหม่มารองรับกันอีกแล้วสินะ ทั้งเราเตอร์ มือถือ ฯลฯ อย่างเรางบน้อยคงไม่ได้ใช้ และคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวไป จนเมื่อวานนี้ทาง 3BB ได้มาเปลี่ยนเราเตอร์ มาตราฐาน Wi-Fi 6 ตัวใหม่ให้ ตามที่ได้ยื่นเรื่องขอไปเมื่อเดือนก่อน หลังจากได้ใช้งานมาแล้วแปรบหนึ่ง ก็เลยอยากมาเล่าให้ฟัง ในแบบถามตอบ แบบบ้านๆ ไม่ลงลึก ให้อ่านง่าย และตรงประเด็น
👉 ฉันจะสามารถใช้งาน WiFi 6 ได้อย่างไร?
สิ่งแรกที่คุณต้องมี และจำเป็นที่สุด นั่นก็คือ เราเตอร์ หรือ Access Point ที่รองรับ มาตราฐาน Wi-Fi 6 นั่นเอง ตรงนี้ลองสอบสามผู้ให้บริการเน็ต (ISP) ที่ท่านใช้งานอยู่ได้เลย ว่ามีอุปกรณ์ดังกล่าว ให้เปลี่ยนไหม? มีเงื่อนไขอย่างไร? ในส่วนของ 3bb มีเงื่อนไข คือ กลับไปติดสัญญา 1 ปี แต่ก็ฟรี ไม่เสียเงินเพิ่มใดๆ และไม่ต้องเปลี่ยนโปรฯเน็ตให้แพงขึ้นแต่อย่างใดครับ
เท่าที่สอบถามเจ้าหน้าที่ทาง 3BB จะมีการแบ่งเขตกันดูแล อุปกรณ์จะแตกต่างกันไปไม่เหมือนกัน โดยสำหรับท่านที่อยู่ภาคเหนือ จะได้รับเราเตอร์ wifi 6 หน้าตาแบบในรูป มีตั้ง 6 เสา ไม่แรงให้รู้ไป
👉 มาตราฐาน WiFi 6 กับ 802.11 ax ต่างกันอย่างไร?
มันคือตัวเดียวกันเลย Wi-Fi 6 นั่นเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้เรียกง่าย จำง่าย นั่นเอง
👉 ความแตกต่างของ มาตราฐาน WiFi 802.11 แต่ละเวอร์ชั่น
มาตราฐาน Wi-Fi 6 นั้น รองรับความแรงถึงระดับ 9.6 Gbps (กิ๊กกะบิต) เลยทีเดียว แต่ไม่ว่าจะไวไฟเวอร์ชั่นไหน 802.11 a/b/g/n/ac/ad/ax เป็นเพียงค่าทางทฤษฎี เวลาใช้งานจริงจะมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาส่งผล ที่เห็นชัดสุดก็คือ คุณภาพของตัวเราเตอร์ จึงไม่แปลกที่จะเห็น เราเตอร์ราคาหลักพัน ไปยันหลักหมื่นนั่นเอง
👉 ความแตกต่างของ Wifi 6 กับ Wifi 6E
ตรงนี้มีหลายคนที่สับสน และเข้าใจผิด ระหว่าง 2 ตัวนี้ Wifi 6 คือ มาตราฐาน 802.11 ax ที่กำหนดโดย IEEE ซึ่งจะรองรับทั้งคลื่นประเภท 2.4 และ 5 GHz พูดให้เข้าใจง่ายคือ เป็นเทคโนโลยีใหม่ ให้การรับส่งข้อมูลดีขึ้น บนคลื่นไวไฟเดิมนั่นเอง
ส่วน Wifi 6E ตัวนี้ จะใช้คลื่น 6 GHz โดยตรง และเป็นมาตราฐาน 802.11 ax ด้วยเช่นกัน สนับสนุนการรับส่งข้อมูลที่มากขึ้นด้วยช่องทางการส่งข้อมูลที่กว้างขึ้น ดังนั้นทั้งสองมาตราฐานนี้ จึงแตกต่างกันอย่างชัดเจน จะบอกว่า Wifi 6 ไม่ใช่ Wifi 6 แท้ ก็ไม่เชิง ดังที่กล่าวมา ด้วยมาตราฐาน 802.11 ax เป็นชื่อเดิมของ เพียงแต่เขาตั้งชื่อ Wifi ให้จำง่ายเรียกง่ายขึ้นนั่นเอง (IEEE 802.11 มีเวอร์ชั่นเยอะมาก อ้างอิงจาก https://en.wikipedia.org/wiki/IEEE_802.11)
และด้วยความที่เป็น คลื่น 6 GHz ระยะพื้นที่ครอบคลุมจะสั้นลง ทะลุทะลวงได้น้อยกว่า จุดประสงค์การใช้งานน่าจะเน้นไปทางแว่น VR หรือด้านการสตรีมวิดีโอแบบ 4k ขึ้นไป ซะมากกว่า แต่ก็คงต้องรอดูกันต่อไป เพราะก่อนจะมาบ้านเราได้ก็คงต้อง ผ่านการอนุมัติคลื่นจากหน่วยงานภาครัฐฯ ก่อนถึงข้อตกลง ย่านความถี่ที่จะอนุญาติให้ใช้งานได้ ซึ่งในท้ายสุดแต่ละยี่ห้อที่ผลิตเราเตอร์ออกมาให้เราได้ใช้งาน ต่างก็มีเทคโนโลยีส่วนตัวที่อาจจะช่วยให้ Wifi 6E เข้ามาแทน Wifi เดิมก็เป็นได้ (เช่นอาจใช้ Mesh เข้ามาช่วยกระจายสัญญาณ) แต่ราคาก็คงเอาเรื่อง ดังนั้น ในความเห็นส่วนตัว นายเรย์คิดว่า ax ก็เพียงพอต่อการใช้งานทั่วไปมากแล้วครับ
👉 แล้วฉันต้องซื้อ มือถือ/อุปกรณ์ใหม่ไหม? เพื่อให้ใช้ มาตราฐาน WiFi 6 ได้
คำตอบ คือ ไม่ต้อง/ไม่จำเป็น เพราะ มาตราฐาน Wi-Fi 6 ใหม่นี้ ทำงานได้กับทั้งบน สัญญาณ Wi-Fi 2 GHz และ 5GHz เดิมที่มีอยู่แล้ว ทั้ง สมาร์ทโฟน, สมาร์ททีวี, กล้องIP, รวมไปถึงอุปกรณ์ IoT ต่างๆที่เรามีใช้งานอยู่ ก็สามารถใช้งานต่อได้เลย โดยไม่มีปัญหาใดๆ แค่ความเร็วจะได้ไม่เต็มตามมาตราฐาน Wi-Fi 6 เท่านั้น (มีผลทดสอบด้านล่าง)
👉 ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเตอร์รองรับ มาตราฐาน WiFi 6 ใหม่แล้ว? แล้วต้องตั้งค่าอะไรเพิ่มเติมไหม?
ตอบแบบกำปั้นทุบดินเลยว่า ดูบนกล่องเราเตอร์ หรือหน้ากล่อง Access Point ที่เราซื้อมาครับ 5555+ หากไม่มี และต้องการทราบให้แน่ใจ ให้เข้าหน้าตั้งค่า เราเตอร์ จาก 192.168.1.1 หรือใครตั้ง IP เลขไหนไว้ก็เข้าไป เมื่อ Login เสร็จแล้ว ก็ไปหน้า Wi-Fi แล้วมองหาโหมดการทำงาน ที่ชื่อว่า Network Mode เมื่อกด Drop down เมนู ก็จะเห็นว่ามี 802.11 ax ให้เลือกใช้งานด้วย
เท่ากับว่าเราเตอร์ หรือ Access Point ของท่าน รองรับ มาตราฐาน Wi-Fi 6 ใหม่แล้ว การตั้งค่าก็เลือก 802.11 ax แล้วกด Apply เท่านี้ก็ได้ใช้งาน Wi-Fi 6 กันแล้ว
👉 ความแตกต่างที่ได้ เมื่อเปลี่ยนไปใช้ มาตราฐาน WiFi 6
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน ก็คือ คุณภาพสัญญาณดีขึ้น ส่งผลให้เสถียรมากขึ้น ดีเลย์น้อยลง ทำให้ได้ความเร็วที่มากขึ้นตามไปด้วย การทดสอบเบื้องต้น โดยใช้ OPPO A9 2020 ทดสอบ สัญญาณ 5 GHz โดยยืนห่างจาก เราเตอร์ ประมาณ 1 ฟุต (30 เซ็นติเมตร) ความเร็วได้ที่ 350+ เมก สำหรับค่าโหลด ส่วนค่า อัพโหลด ได้ 100 นิดๆ
ส่วนความเร็วเทสผ่านสาย LAN ค่า โหลดได้ที่ 700+ เมกต้นๆ ค่าอัพโหลด ได้ที่ 100 นิดๆเช่นกัน อันหลังนี่เสมอต้นเสมอปลายดี (ใช้โปรฯ 1000/100 อยู่ ค่าโหลดหายไป เกือบ 30% นะ เพ่ 3BB 5555+)
ทดสอบอีกรอบ นายเรย์ใช้มือถือเครื่องเก่า Xiaomi Redmi Note 4x SND ในห้องนอนชั้น 2 สามารถจับสัญญาณ 5 GHz ได้ดีขึ้น จากเดิมคือ 1 ขีด แถมมาๆหายๆ คือใช้งานไม่ได้เลย แล้วเพิ่มขึ้นเป็น 2 - 3 ขีดเลยทีเดียว (ก็นะมีตั้ง 6 เสา ไม่แรงก็แย่ละ) โดยความเร็วสูงสุดที่มือถือรุ่นนี้รับได้ คือ ดาว์นโหลด 100 Mbps อัพโหลด 100 Mbps ต่อให้เน็ตแรงแค่ไหนก็ไม่เกินจากนี้ครับ เป็นข้อจำกัดของอุปกรณ์รุ่นเก่า/ตามราคา
ผลทดสอบความเร็ว เปรียบเทียบกับมือถืออีกเครื่อง ใช้ OPPO A9 2020 ทดสอบที่ตำเหน่งเดียวกัน ได้ผลตามรูปเลยจร้า (Note 4x รูปครึ่งบน / OPPO A9 2020 รูปครึ่งล่าง)
สรุปอีกครั้งว่า ความเร็วที่ได้จะขึ้นกับ อุปกรณ์ที่ใช้ด้วยนะจ๊ะ พวกรุ่นเก่าๆก็จะรับได้ช้าหน่อย หรือก็จะต่างกันไปตามราคาด้วย ทั้งค่า ping ที่ได้ก็แตกต่างอยู่ แม้จะเป็นอุปกรณ์เก่าขนาดเกิน 5 ปี ก็ยังคงใช้งานได้อยู่ แค่ช้ากว่าเท่านั้น (80+ เมก ก็ใช้ดูคลิป Youtube ได้สบายๆละ)
จากการทดสอบ แม้จะได้ความเร็วแค่หลัก 200 - 300 Mbps บน OPPO A9 2020 ถึงจะไม่ตรงตาม มาตราฐาน Wi-Fi 6 (ถ้าตรงความเร็วมันต้องมาเต็มตามโปรฯ) ตรงนี้ก็เพราะ มือถือที่นำมาทดสอบยังไม่รองรับ มาตราฐาน Wi-Fi 6 นั่นเอง แต่นายเรย์คิดว่าก็เพียงพอต่อการใช้งานทั่วไปบนมือถือแล้ว ไม่ว่าจะดูหนัง 4k หรือเล่นเกมแนว FPS/ Battle Royal ก็สบายๆ กับ ping ที่ 2 ms (ถ้าไปเซิฟตปท. ping ก็น่าจะเพิ่มขึ้นแต่แนวโน้ม ถือว่าดีขึ้นมาก) ที่สำคัญไม่เสียเงินสักบาทนี่แหละ
ประเด็นอีกอย่างที่น่าสนใจใน มาตราฐาน Wi-Fi 6 ใหม่นี้ เขาเคลมว่า รองรับ จำนวนผู้ใช้งานได้มากขึ้น ตรงนี้ต้องบอกว่าทดสอบได้ยาก เนื่องด้วยว่า จำนวนผู้ใช้ที่บ้านนายเรย์มีไม่เยอะ อีกทั้งจำนวนผู้ใช้ที่รองรับมันขึ้นกับสเปคของเราเตอร์ด้วย สเปคดีมันก็รองรับผู้ใช้งานได้มากตาม สำหรับของฟรี(ติดสัญญา) จาก 3BB จึงไม่สามารถนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดให้ชัดเจนได้ เอาเป็นว่าก็เพียงพอต่อการใช้งานเบื้องต้นละกันครับ
👉 ปัญหาที่เจอกับ เราเตอร์ WiFi 6 ใหม่ ของ 3BB รุ่น HG6245N
หลังจากเจ้าหน้าที่มาติดตั้งให้ นายเรย์ก็จัดการเข้าไปตั้งค่าต่างๆ ในเราเตอร์ให้เป็นตามต้องการ เช่น ซ่อนชื่อ ไวไฟ ไว้ (ป้องกันการ Hack ได้ระดับหนึ่ง) ฯลฯ หน้าแรกใน 192.168.1.1 แสดงสถานะการทำงานของเราเตอร์ มีการทำงาน CPU และ RAM ของเราเตอร์ให้ดูด้วย ในการใช้งาน PC 1 เครื่อง ต่อสาย LAN, Access Point 1 ตัว (Bridge Mode). มือถือ 2 เครื่อง ขณะกำลังเขียนบทความนี้อยู่ เลยไม่ได้ใช้งานเน็ตมาก CPU เราเตอร์วิ่งแค่ที่ 8% (ตามรูป) ก็ใช้อ้างอิงคร่าวๆได้ว่าเราเตอร์เราทำงานปกติอยู่ไหม
ขณะที่กำลังเขียนบทความนี้ ฝนตก ไฟดับ พอไฟฟ้ามา ชื่อ Wifi ที่ตั้งไว้หาย เช็คดู ปรากฏว่า ค่าที่ตั้งไว้ เช่น ชาแนล, โหมด ax เปลี่ยนไปหมด เหมือนมัน Factory Reset กลับมาเหมือนเดิม ซะอย่างงั้น ก็ต้องมา Set ค่ากันใหม่ จนขี้เกียจเข้าไปตั้ง ถ้าเจอปัญหาอีกก็คงต้องแจ้ง 3BB เปลี่ยนตัวใหม่มาให้ (ล่าสุด ถามช่าง 3BB แล้วเขาบอกว่าแบบนี้ปกติ ห่ะ???) ก็ต้องทนๆใช้ไป เหอๆ ภายหลังก็เอาเครื่องสำรองไฟมาต่อ เพราะแถวบ้านไฟดับไฟกระชากบ่อย
และในภายหลังนายเรย์ได้ถอย Laptop ใหม่มาใช้งาน แต่ปรากฏว่า ไม่สามารถมองเห็น Wifi 5GHz ax ได้ หรือกว่าจะมองเห็นก็ใช้เวลานานมาก จึงได้แจ้งให้ช่าง 3BB เข้ามาช่วยดู เอา Laptop 2 เครื่องมาเปิดเทียบกัน สุดท้ายก็หาสาเหตุไม่ได้ แต่มีช่างคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า "Laptop ยี่ห้อนี้หรอ น้องผมก็ใช้ แพงกว่าของคุณอีก มีปัญหาแบบนี้เหมือนกัน" ห่ะ-_-; (ตรงนี้จะมาเหลาเรื่อง Laptop แบบละเอียดอีกที)
สุดท้าย "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" นายเรย์จึงเข้าไปลองตั้งค่า Wifi ดูเองโดย ให้ใช้ ax เฉพาะ 5GHz ตั้ง Bandwidth ที่ 80MHz เลือกชาแนลที่ไม่ชนกับ ข้างบ้าน (ใช้แอพมือถือช่วยดู) ส่วนคลื่น 2.4GHz ใช้ b/g/n ตั้ง Bandwidth ที่ 20/40MHz ใน Laptop ก็อัพเดต Driver การ์ดไวไฟเป็นเวอร์ชั่นล่าสุด ก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ คือ มองเห็น และเชื่อมต่อกับ Wifi 5GHz ax ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม
เมื่อยังคาใจ นายเรย์จึงสอยเราเตอร์ ax ใหม่มาลองใช้งาน โดยต่อเข้ากับ ONU ของ 3BB โดยใช้ Bridge โหมด ตั้งค่า Wifi ax ทดสอบแล้วใช้งานได้เป็นอย่างดี Laptop มองเห็น เชื่อมต่อสะดวก แต่ปัญหาใหม่เกิด คือ เมื่อทดสอบความเร็วปรากฏว่า ร่วงลงเหลือ 200-300 เม็ก (โปรฯเต็ม1กิ๊ก) แม้จะทดสอบผ่านสายแลนแล้วก็ตาม ทำการแจ้ง 3BB อีกครั้ง เมื่อช่างมาทำการตรวจสอบ ซึ่งก็ช้าจริง นายเรย์ก็ได้ขอให้ลองเปลี่ยนการตั้งค่ากลับ แล้วใช้เราเตอร์ใหม่ในโหมดGateway/AP ธรรมดา และปิด DHCP ผลปรากฏว่า ความเร็วกลับมาเต็มสปีด โดยทางช่างบอกว่า "ทาง 3BB ปรับประกันความเร็ว เฉพาะอุปกรณ์ของ 3BB เท่านั้น" และได้บอกอีกว่า "เราเตอร์ใหม่ที่เราซื้อ CPU ไม่ถึง" (ห่ะ!! อีกแล้ว) ว่างๆจะมาเหลาอีกทีว่าเราเตอร์ยี่ห้ออะไร รุ่นไหน ครับ
หลังจากช่างกลับไปก็ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนอีกครั้ง ทดลองเปิด DHCP บนเราเตอร์ใหม่ เพื่อทดลองการทำงานในเราเตอร์ใหม่ ก็เช็คสถานะ CPU แสดงแค่ 1-2% เท่านั้น ด้วยความคาใจจึงไปค้นหาข้อมูล ไปเจอหลายกระทู้ในพันทิป เล่าไว้ว่า เราเตอร์ยี่ห้อ FiberHome ที่ 3BB ใช้งาน บางรุ่นมีปัญหาที่ตัว Firmware คือเมื่อนำมาต่อ Bridge โหมด จะทำให้ความเร็วตก ที่น่าสนใจ คือ ปัญหานี้เจอกันมาแล้วตั้งแต่ปี 62/63 จนปีนี้ 65 ก็ยังเจอ หื้มมม... น่าคิด
ด้านปัญหาการใช้งานอื่นๆ ณ ตอนนี้ยังไม่เจอปัญหาอะไรนอกจากข้างต้นที่กล่าวมา ก็คงต้องดูกันต่อไปแบบยาวๆ หากพบเจออะไร นายเรย์จะกลับมาอัพเดตให้ทราบกันเรื่อยๆ รอติดตามกันได้เลยจร้าาา
COMMENTS